[ประสบการณ์ซ้ำซาก] เปลี่ยนจาก 3 คำถามใน Daily Scrum เป็น 3 การกระทำใน Daily ที่สอดคล้องกับเป้าหมายจริง ๆ ของ Daily Scrum ตอนที่ 1

--

รูปจากเอกสาร Scrum Guide ฉบับ Official เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2016

ความเดิมจาก Facebook ของผม

ณ วันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 06:20 น. ผมได้โพสข้อความไว้บน Facebook ของผม ความว่า

Daily Scrum กับ 3 คำถาม ที่ สองบิดาของ Scrum ระบุไว้ว่า หากไม่รู้ว่าจะคุยอะไรกันก็ลองเริ่มต้นด้วย

  1. เมื่อวานทำงานอะไรเสร็จ ที่จะทำให้เราสามารถส่งมอบได้ตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้
  2. วันนี้จะทำงานอะไร ที่จะทำให้เราสามารถส่งมอบได้ตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้
  3. ติดปัญหา อุปสรรค และขวากหนาม อะไร ที่จะทำให้เราไม่สามารถส่งมอบได้ตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้

ที่กำหนดไว้ว่า Daily Scrum

  • เกิดขึ้นทุกวันใน Sprint
  • กรอบระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที
  • เวลาเดิม เช่น 09:00 น. — 09:15 น.
  • สถานที่เดิม มักจะนิยมกันที่ หน้า Sprint Backlog

และเขาไม่ได้บอกว่าจะต้องยืน!!!

เอาเข้าจริง ๆ มันไม่ได้ช่วยอะไรเลย นอกจากภาพสวย ๆ เอาไว้บอก กล่อม หลอกผู้บริหาร ว่า

  • เราทำ Agile แล้ว … อ๊อด!!! ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับ Agile เลย
  • ทีมมีพัฒนาการ มีการวางแผนรายวัน …อ๊อด!!! ตรวจสอบไม่ได้ว่า ที่บอกว่าทำแต่ละงานเสร็จ มันเสร็จจริง ๆ ไหม เพราะแค่พูด กับเลื่อน การ์ด (ที่นิยมเรียกกัน)
  • ทีมเป็น Self-Manage แล้ว … อ๊อด ลองไม่จ้ำจี้จำไชดูว่าจะทำกันเองไหม ได้ตามวัตถุประสงค์ของเหตุการณ์ Daily Scrum ไหม

แถมเพิ่มกระดาษกราฟ ที่เขียนชื่อกราฟว่า Burn Down Chart เข้าไปหนึ่งแผ่น เผลอ ๆ ยังไม่พอ เพิ่มอีกใบชื่อว่า Burn Up Chart เข้าไป … อันนี้ก็แล้วแต่ความเชื่อ ความชอบ และประสบการณ์ ของแต่ละบุคคลที่เป็น ScrumMaster หรือ Scrum Master

ทำ ๆ กันไปทุกวี่ ทุกวัน จากวันเป็นสัปดาห์ จากสัปดาห์เป็น Sprint จาก Sprint เป็นเดือน จากเดือนเป็นปี ก็ยังซ้ำซ้ำซากซาก กับ สามคำถาม และ Daily Scrum ที่

จับวัด “งาน (task) เสร็จ” “feature เสร็จ” “ความคืบหน้า” “ปัญหา” และอื่น ๆ ไม่ได้เลย

ที่หนูพล่ามเช้านี้ เพราะหนูทำเอง นำพา และพาทำ มาหมดแล้ว ถึงกล้าจะพล่ามได้ และตื่นจากทุ่งลาเวนเดอร์เมื่อ 6 ปีได้แล้ว

ปรับ และเปลี่ยน โดยใช้

Daily Plan
Daily Review
Daily Retrospective

ปรับ และเปลี่ยนยังไง กด Like กด Share เป็นกำลังใจให้ … ไอ้สัส (เสียงหน้าค่อม) ไม่ใช่ Tiktok

เอาใหม่

5…4…3…2…1

เริ่มยาวแหละ ถ้าไม่ค่ำคินนี้ ก็พรุ่งนี้เช้า ๆ จะ

1. พล่ามเป็น VDO แล้วเอาขึ้น YouTube (น่าจะเป็น Director ไม่ Cut)

2. พล่ามเป็น บทความ ลงใน Blog

ไม่กราบขออภัยใด ๆ หากมี คำ หรือ ข้อความ ใด ๆ ไม่สุภาพ และเกิดความสะเทือนใจ

วันนี้เลยมา พล่าม ผ่านตัวอักษรออกมาเป็นบทความไว้ โดยจะแบ่งออกเป็น 5 ตอน ดังนี้

  • ตอนที่ 1 รู้จัก Daily Scrum ใน Official Scrum Guide กรกฎาคม ค.ศ. 2016 และปัญหาที่เกิด
  • ตอนที่ 2 ดูต่อว่า Daily Scrum ใน Official Scrum Guide พฤศจิกายน ค.ศ. 2021
  • ตอนที่ 3 เปลี่ยนจาก 3 คำถาม ไปสู่ 3 การกระทำ Daily และ การกระทำ Daily Plan คือ เพราะ เพื่อ และทำอย่างไร
  • ตอนที่ 4 การกระทำ Daily Review คือ เพราะ เพื่อ และทำอย่างไร
  • ตอนที่ 5 การกระทำ Daily Retrospective คือ เพราะ เพื่อ และทำอย่างไร

เนื่องจากผมจะต้องอ้างอิงเอกสาร Offical Scrum Guide โดยสองผู้หลักผู้ใหญ่ที่คิด สร้าง และปรับปรุง Scrum Framework ดังนั้นหากจะนำ Scrum Framework ไปปรับใช้ผมแนะนำให้เสพก่อนนะนะครับ และฉบับที่ผมแนะนำให้อ่าน คือ

Scrum Guide ฉบับ กรกฎาคม ค.ศ. 2016

  • จัดทำโดย Ken Schwaber และ Jeff Sutherland
  • ภาษาอังกฤษ
  • จำนวน 17 หน้า (รวมปกหน้า)
  • ดาวน์โหลด http://sck.pub/scrum-guide-july-2016

และ

Scrum Guide ฉบับ พฤศจิกายน ค.ศ. 2021 [ฉบับล่าสุด]

  • จัดทำโดย Ken Schwaber และ Jeff Sutherland
  • ภาษาอังกฤษ
  • จำนวน 14 หน้า (รวมปกหน้า)
  • ดาวน์โหลด http://sck.pub/scrum-guide-november-2021

ยามใดที่เราเริ่มการเดินทางบนถนน Agile ที่ชื่อเต็ม ๆ ว่า Agile Software Development นั้น Scrum Framework ถือเป็นหนึ่ง ยานพาหนะ ที่พาเราเดินทางไป และภายใต้จักรวาลของ Agile Software Development นั้นยังมียานพาหนะมากกว่า Scrum Framework

เอาเข้าจริง ๆ แล้วนั้น Scrum Framework ไม่ได้บอกว่าจะพัฒนา ตรวจสอบ ทดสอบ เพื่อส่งมอบซอฟต์แวร์ หรือระบบไอที อย่างไรนะครับ (จากใจ และประสบการณ์ที่ทำโครงการพังคามือมาแล้วด้วย Scrum Framework ของผม ผู้ที่เคยมี Certified ScrumMaster + Certified Scrum Product Owner + Certified Scrum Developer + Certified Scrum Professional ที่ Certified หมดอายุ และไม่คิดจะต่ออายุ)

แต่ไหน ๆ เพื่อนพ้องน้องพี่แต่ละท่านก็เลือกขึ้นยานพาหนะชื่อ Scrum Framework มาแล้ว ทั้งที่เลือกยานพาหนะนี้ หรือมีคนเลือกให้แล้วเราก็ต้องโดยสารไป

พอนำ Scrum Framework มาใช้แล้วก็ต้องมี พิธีกรรมชื่อ Daily Scrum ที่มักจะมากับ 3 คำถามที่จะต้องตอบวนไปในทุก ๆ วัน ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ บางคนอาจจะต้องทำวันเสาร์ และ/หรือ วันอาทิตย์ด้วย

บ้างก็ทำทำไปเพราะมีคนสั่ง บอก หรือนำพาให้ตอบคำถาม 3 คำถามนั้น ก็ทำทำไปแบบไม่เข้าใจว่าทำไปทำไม สร้างประโยชน์อะไร และถ้าไม่ทำจะเสียอะไร

เอาเข้าจริง ๆ พิธีกรรม Daily Scrum หรือบางที่ก็จะเรียกว่า ประชุม Daily Scrum หรือ Scrum Meeting

[FYI:For Your Improvement]

เรียกว่า Daily Scrum นะครับ

Daily Scrum เป็น Event ซึ่งผมเรียกว่า พิธีกรรม และไม่ใช่ ประชุม นะครับ

ชำแหละ Daily Scrum จาก Official Scrum Guide ฉบับ กรกฎาคม ค.ศ. 2016

[แจ้งทราบ] ผมมันเป็นประเภท สันดานเสีย ที่จะต้องเอาเอกสารของคนต้นเรื่องตั้ง และทำความเข้าใจ

  • เพื่อให้รู้ที่มาที่ไป
  • เพื่อนำไปใช้จริง
  • เพื่อบอกได้ว่ามันใช้งานได้หรือไม่ได้
  • เพื่อแสดง พาทำ และนำพา ว่า มันไม่ดี และไม่ช่วยเพราะอะไร
  • เพื่อแสดง พาทำ และนำพา ว่า มันดี และช่วยเพราะอะไร

ดังนั้น ถ้ารสนิยมเราไม่เหมือนกัน กดปิดบทความนี้ไปได้เลย เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้

จากเอกสาร Official Scrum Guide ฉบับกรกฎาคม ค.ศ. 2016 อยู่ในหน้าที่ 11 ของเอกสาร

รูป Daily Scrum จากหน้าที่ 11 ของเอกสาร Official Scrum Guide ฉบับกรกฎาคม ค.ศ. 2016

เมื่อ 1 Sprint ของเรากำหนดระยะเวลาไว้ที่ 10 วันทำการ (เริ่มวันจันทร์ และจบวันศุกร์) และใน 1 Sprint ประกอบไปด้วย Event หรือ เหตุการณ์ หรือ พิธีกรรม (ผมชอบใช้คำว่า พิธีกรรม เป็นการส่วนตัว เพราะในแต่ละพิธีกรรมจะมีผู้ดำเนินพิธีกรรม)

[ประสบการณ์ซ้ำซากของผม]
พิธีกรรม Daily Scrum นั้นผมจะเริ่มทำตั้งแต่วันที่ 2 ของ Sprint จนถึงวันที่ 10 ของ Sprint

สำคัญมาก ๆ ที่จะต้องมีในแต่ละ Sprint คือ เป้าหมายของ Sprint (Sprint Goal)

เท่าที่ประสบพบเจอมาเจอ เป้าหมายของ Sprint น้อยมากๆ แต่กลับเจอแต่ สถานะ (Status) ของงานบ้าง หรือสถานะของฟีเจอร์ หรือสถานะของ User Story บ้าง ยกตัวอย่างเช่น

เป้าหมายของ Sprint นี้ คือ ทำ Story จ่ายเงินออนไลน์เสร็จ … อ๊อด!!! “เสร็จ” เป็นสถานะ (Status) ไม่ใช่เป้าหมาย

แต่ก็ไม่ได้ผิด หรือบาป อะไรนะครับ เหตุผลเพราะ เอาเข้าจริง Scrum Guide ก็ได้ไม่ได้ให้ตัวอย่างว่า เป้าหมายของ Sprint (Sprint Goal) มันหน้าตาแบบไหน

[ประสบการณ์ซ้ำซากของผม]
เป้าหมายของ Sprint (Sprint Goal) จะพาเขียนออกมาเป็นตามตัวอย่างนี้

ผู้ใช้งานสามารถชำระเงินค่าสินค้าผ่านช่องทางบัตรเครดิต 3 ผู้ให้บริการได้สำเร็จ

แล้วไปขยายต่อในระดับของ Product Backlog Items (PBI) ว่ามีทั้งหมดกี่ PBI เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของ Sprint (Sprint Goal)

คำถาม เป้าหมายของ Sprint (Sprint Goal) ที่มักจะต้องตอบบ่อย ๆ

แจ้งทราบ คำตอบทั้งหมดมาจากการได้รับการถ่ายทอดมาจากครูบาอาจารย์ชาวต่างชาติผู้มีประสบการณ์มากหลายกับ Scrum Framework + ประสบการณ์ของตัวเองจากการลงมือทำซ้ำซ้ำซากซาก

ถาม: ใครเป็นคนกำหนด เป้าหมายของ Sprint (Sprint Goal)?
ตอบ: ผู้ที่โดนอุปโลกน์ หรืออุปโลกน์ตัวเองเป็น บทบาทสมมติใน Scrum Framework ว่า Product Owner

ถาม: กำหนด เป้าหมายของ Sprint (Sprint Goal) ตอนไหน?
ตอบ: ในเวิร์กชอป (workshop) ชื่อว่า Product Backlog Refinement Workshop ย้ำอีกครั้งว่า Product Backlog Refinement Workshop ไม่ใช่ และอย่าใช้ Grooming

ถาม: ใครเป็นคนเขียน เป้าหมายของ Sprint (Sprint Goal)?
ตอบ: ใครก็ได้ที่ ลายมือภาษาไทย เขียนแล้วอ่านออก ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่โดนอุปโลกน์ หรืออุปโลกน์ตัวเองเป็น บทบาทสมมติใน Scrum Framework ว่า Product Owner หรือสมาชิกใน Development Team ยกเว้นคนเดียวอย่าสาระแนไปเขียนคือ ผู้ที่โดนอุปโลกน์ หรืออุปโลกน์ตัวเองเป็น บทบาทสมมติใน Scrum Framework ว่า Scrum Master

ถาม: เขียน เป้าหมายของ Sprint (Sprint Goal) แล้วเอาไปไว้ที่ไหน?
ตอบ: เขียนลงกระดาษ แผ่นใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น กระดาษ Flipchart หรือเอากระดาษ A4 ต่อกันเป็นทางยาวสักสี่หรือห้าแผ่น แล้วก็เอาไปแปะไว้ตรง Sprint Backlog เพื่อให้เห็นทุกวันว่าเป้าหมายของ Sprint (Sprint Goal) คืออะไร

ถาม: แล้วถ้าใช้ Jira เป้าหมายของ Sprint (Sprint Goal) แล้วเอาไปไว้ที่ไหน?
ผม: ไม่ตอบแล้ว ไว้ไปอ่านที่ผมจะพล่ามเรื่อง เป้าหมายของ Sprint (Sprint Goal) ถ้ารอไม่ได้ก็ไปถาม ผู้ที่โดนอุปโลกน์ หรืออุปโลกน์ตัวเองเป็น บทบาทสมมติใน Scrum Framework ว่า Scrum Master ของคุณนะ

แล้ว เป้าหมายของ Sprint (Sprint Goal) นั้นสำคัญมาก ๆ กับพิธีกรรม Daily Scrum อย่างไร ก็ตามรูปด้านบนนะจ๊ะ เพราะระบุไว้ใช้เจนเลยว่า สามคำถาม นั้นยึดโยงไปที่ เป้าหมายของ Sprint

What did I do yesterday that helped the Development Team meet the Sprint Goal?

  • What did I do yesterday == ผม/หนู/ฉัน/เรา/เค้า ทำอะไรไปเมื่อวานนี้
  • that helped the Development Team == ที่จะช่วยให้ทีมเรา
  • meet the Sprint Goal? == ยังไปสู่เป้าหมายของ Sprint ได้?

What will I do today to help the Development Team meet the Sprint Goal?

  • What will I do today == ผม/หนู/ฉัน/เรา/เค้า จะทำอะไรบ้างวันนี้
  • to help the Development Team == ที่จะช่วยให้ทีมเรา
  • meet the Sprint Goal? == ยังไปสู่เป้าหมายของ Sprint ได้?

Do I see any impediment that prevents me or the Development Team from meeting the Sprint Goal?

  • Do I see any impediment == ผม/หนู/ฉัน/เรา/เค้า เห็น ประสบ พบ เจอ อุปสรรค ขวากหนาม และปัญหา
  • that prevents me == ที่ขัดขวาง ผม/หนู/ฉัน/เรา/เค้า
  • or the Development Team == หรือทีมเรา
  • from meeting the Sprint Goal? == จากเป้าหมายของ Sprint?

What และ What ของสองคำถามแรก คือ อะไร?

รูป Daily Scrum จากหน้าที่ 11 ของเอกสาร Official Scrum Guide ฉบับกรกฎาคม ค.ศ. 2016

คำตอบ: ก็ตามรูปครับ และเพิ่มเติมคือ งาน (Task) ซึ่งไม่มีระบุไว้ใน Scrum Guide แต่ในทางปฏิบัติจากการลงมือทำต้องมีนะจ๊ะ

สามคำถามตามด้านบนนี้ที่ถูกระบุไว้ว่าเพื่อให้

สมาชิกแต่ละคนใน Development Team อธิบาย บอกเล่า และสื่อสารออกใน พิธีกรรม Daily Scrum เพื่อให้สมาชิกคนอื่น ๆ ใน Development Team

เพราะ

รูป Daily Scrum จากหน้าที่ 11 ของเอกสาร Official Scrum Guide ฉบับกรกฎาคม ค.ศ. 2016

สมาชิกทั้งหมดใน Development Team จะต้องร่วมกันกำหนดแผนงานที่จะเกิดขึ้นในแต่ละวันออกมา เพื่อยังคงเดินทางไปสู่ เป้าหมายของ Sprint (Sprint Goal) ตามที่ตกลงร่วมกันมากับ ผู้ที่โดนอุปโลกน์ หรืออุปโลกน์ตัวเองเป็น บทบาทสมมติใน Scrum Framework ว่า Product Owner

พิธีกรรม Daily Scrum นั้นสำคัญมาก ๆ และไม่ใช่เพียงแค่เข้ามาตอบสามคำถามส่ง ๆ ให้จบ ๆ ไปเท่านั้น

เพราะหากวันใดวันหนึ่งตั้งแต่ วันที่สองของ Sprint จนถึง วันที่เก้าของ Sprint พบเจอในพิธีกรรม Daily Scrum แล้วจะให้ไม่สามารถดำเนินการส่งมอบ Product Backlog Items ได้ตาม เป้าหมายของ Sprint (Sprint Goal) สมาชิกใน Development Team ก็ดำเนินการตามที่ผม Highlight สีเหลือง และขีดเส้นสีน้ำเงินไว้ในรูป ร่วมกับ ผู้ที่โดนอุปโลกน์ หรืออุปโลกน์ตัวเองเป็น บทบาทสมมติใน Scrum Framework ว่า Product Owner ทันที … ย้ำว่า ทันที

โดยเป็นการจัดประชุมแยกออกมาจากพิธีกรรม Daily Scrum นะจ๊ะ ไม่ทำปนเปกัน แยกให้ชัดว่า ตอนนี้คือ พิธีกรรม Daily Scrum และหลังจากจบพิธีกรรม Daily Scrum แล้วขอประชุมเพิ่ม เพราะ

พิธีกรรม Daily Scrum ถูกกำหนดไว้ชัดเจนว่า

  • มีกรอบระยะเวลาในการดำเนินพิธีกรรมไม่เกิน 15 นาที
  • ณ เวลาเดิม เพื่อให้บริหารเวลาตัวเองได้ง่าย
  • ณ สถานที่เดิม แนะนำเป็น หน้า Sprint Backlog (จากประสบการณ์ส่วนตัว) และอย่าระบุสถานที่เป็น ใน Line Group หรือ Facebook Messenger Group หรือเครื่องมืออะไรที่สร้าง Group ได้ เพราะจะไม่ได้ห่าอะไรเลย
  • สมาชิกใน Development Team บอกกล่าว เล่า แบ่งปัน เพื่อสื่อสารให้ทุก ๆ คนได้รับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริง ความคืบหน้า และปัญหาที่พบ เพราะเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน
  • กำหนดแผนงานในแต่ละวัน ตั้งแต่วันที่สอง ถึงวันที่เก้า ของ Sprint
  • อ้อ..อีกอย่าง Daily Scrum ไม่มีตรงไหนที่บอกว่าจะต้อง ยืน นะจ๊ะ แล้ว จะยืน หรือจะนั่ง หรือจะเดิน หรือจะ pranking หรือจะนอน สะดวกท่าไหนก็ตกลงกัน

ดังนั้นหากเจออุปสรรค ขวากหนาม และปัญหา เวลา 15 นาที ไม่พอหรอกที่ลงรายละเอียดกัน และตามรูปตรงที่ผมHighlight สีเหลือง และขีดเส้นสีน้ำเงินไว้ ก็ระบุไว้ชัดว่า

The Development Team or team members often meet immediately after the Daily Scrum for detailed discussions, or to adapt, or replan, the rest of the Sprint’s work.

ยกตัวอย่างเช่น

ในพิธีกรรม Daily Scrum วันที่ห้าของ Sprint เจอตอเข้าอย่างแรง แล้วมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถส่งมอบ และไปสู่เป้าหมายของ Sprint (Sprint Goal) ได้ ก็

สมาชิกใน Development Team ที่เจอตอนั้น แจ้งในพิธีกรรม Daily Scrum เลยว่า

หลังจากจบพิธีกรรม Daily Scrum แล้ว ขอคุยเรื่องตอที่เจอเพื่อประเมิณผลกระทบกับทุก ๆ คนใน Development Team, Product Owner และ Project Manager น่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

หลังจะจบพิธีกรรม Daily Scrum ก็ต่อด้วยประชุมที่ขอภายในกรอบระยะเวลา 1 ชั่วโมง โดยยกตัวอย่างของลำดับที่จะเกิดขึ้น

  • อธิบายว่า ตอ ที่เจอคืออะไร เจอเมื่อไร หากมีต้นสายปลายเหตุของ ตอ ด้วยจะหล่อมาก
  • ร่วมกัน ประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นว่าจะส่งผลกระทบกับ เป้าหมายของ Sprint (Sprint Goal) หรือไม่
  • หากกระทบกับ เป้าหมายของ Sprint (Sprint Goal) ก็ ร่วมกัน ทำการดำเนินการปรับแผนงาน (Tasks) และ Activities (ขอใช้ทับศัพท์ตามเอกสาร Scrum Guide) ก็ทำได้หลากหลายรูปแบบของการปรับแผน ทั้งให้ยังคงได้ตาม เป้าหมายของ Sprint (Sprint Goal) หรือ ปรับเปลี่ยนเป้าหมายของ Sprint (Sprint Goal) ซึ่งไม่ว่าจะออกมาแบบใด ก็จะมีต้องกระทบกับ จำนวนของ Product Backlog Items และระดับความสำคัญของแต่ละ Product Backlog Items ที่อยู่ใน Sprint Backlog
  • ร่วมกัน สร้างแผนงานที่จะเกิดขึ้นใน Sprint นี้ตามเป้าหมายของ Sprint (Sprint Goal) ที่ปรับ และตกลงร่วมกัน
  • Product Owner และ/หรือ Project Manager ดำเนินการสื่อความออกให้กับทุกๆ คนที่เกี่ยวข้องกับ เป้าหมายของ Sprint (Sprint Goal) และ Product Backlog Items ทุกๆ อันที่ได้รับผลกระทบ

ผู้ที่โดนอุปโลกน์ หรืออุปโลกน์ตัวเองเป็น บทบาทสมมติใน Scrum Framework ว่า Scrum Master ต้องทำอะไรกับ พิธีกรรม Daily Scrum

รูป Daily Scrum จากหน้าที่ 11 ของเอกสาร Official Scrum Guide ฉบับกรกฎาคม ค.ศ. 2016

คำเตือน สิ่งที่จะได้เสพต่อไปนี้ ได้รับการถ่ายทอดมาจากครูบาอาจารย์ชาวต่างชาติผู้มีประสบการณ์มากหลายกับ Scrum Framework + ประสบการณ์ของตัวเองจากการลงมือทำซ้ำซ้ำซากซาก

เอกสาร Official Scrum Guide ระบุไว้ตามรูปตามที่ผมตัดออกมา โดยระบุชัดเจน และผมแปลออกมาเป็นภาษาไทยเพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าจะต้องทำอะไรบ้างตามลำดับดังต่อไปนี้

  1. ให้ความรู้
  2. ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
  3. พาทำ
  4. นำพา
  5. เพิ่ม ลด และปรับแก้

ตามจุดประสงค์ และหลักปฏิบัติของพิธีกรรม Daily Scrum ที่ระบุไว้ตามเอกสาร Official Scrum Guide ฉบับกรกฎาคม ค.ศ. 2016

หากเพื่อนพ้องน้องพี่ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งเป็นอะไร โดนอุปโลกน์เป็นอะไร หรืออุปโลกน์ตัวเองขึ้นมาเป็นอะไร ที่ถูกพา ที่ถูกคับ ที่ถูกบอก ที่ถูกลาก ที่ถูกสั่ง และที่ถูกอื่นๆ แล้วมี

พิธีกรรม Daily Scrum หรือบ้างก็เรียกว่า Stand Up Meeting (นี่ก็อีกหนึ่งที่เอามาใช้มั่ว) กับ สามคำถามที่น่าจะย่อและย้นเป็น

  • เมื่อวานทำอะไร?
  • วันนี้จะทำอะไร?
  • ติดปัญหาอะไรไหม?

บ้าบอนั่งเสพการพล่ามของผมมาจนถึงบรรทัดนี้ แล้วพิธีกรรม Daily Scrum กับ สามคำถาม ไม่เป็นไปตามที่เสพมาจากนั้น

ก็จง

หยุด และเปลี่ยนจาก 3 คำถามใน Daily Scrum เป็น 3 การกระทำใน Daily ที่สอดคล้องกับเป้าหมายจริง ๆ ของ Daily Scrum

เพราะเสียเวลาไปโดยไร้ประโยชน์ แต่ไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ใด ๆ ตามเป้าหมายของ Scrum Framework

ไม่ว่าแง่มุมไหนที่ได้จาก Scrum123 จะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร สำคัญที่สุดคือการนำไปปรับใช้ และส่งต่อประสบการณ์นั้นจากเราสู่เพื่อนพ้องน้องพี่ เพราะ การแบ่งปัน ก็คือ ความใส่ใจ

วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 18:18 น.
ประเทศไทย

--

--

Writer, Speaker, Tester, Coach, Facilitator, Graphic Recorder, Agile, Scrum, ITIL, Software Tester, Basketball, Linkin Park, Coffee